วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

ฺMy Best Movie 2014


สิ้นปีมาถึงอีกครา ช่วงเวลาที่พาเหรดหนังดีแห่แหนกันลงจอให้ผู้คนได้เข้าไปพิสูจน์ ฤดูหนังรางวัล เป็นช่วงที่ผมชื่นชอบเป็นที่สุดแม้ส่วนตัวจะค่อนข้างไม่ถูกกับฤดูหนาว อีกทั้งยังเป็นธรรมเนียมที่หลายคนจะจัดลิสท์หนังที่ได้ดูมาตลอดปี ว่ามีหนังเรื่องไหนที่พอจะเข้าค่ายหนังที่ชื่นชอบได้บ้าง ยอมรับว่าปีนี้แทบจะไม่ได้แตะหนังฝั่งเอเชียเลย ส่วนใหญ่จะมาจากการดูหนังเก่าๆหรือไม่ก็จะเป็นฝั่งหนังไทยเสียมากกว่า    และโปรเจคปิดท้ายปีหนังฝรั่งของผมคือ The Hobbit: The Battle of the Five Armies และก็ได้ชำระไปเรียบร้อยจากการดูในวันแรกที่หนังเข้าฉาย พร้อมๆกับระบบซื้อขายตั๋วหนังที่จู่ๆก็ล่มขึ้นมาเสียอย่างนั้น 

ดังนั้น เมื่อบรรลุปณิธานการดูหนังของปีนี้ไปแล้ว ผมจึงขอรวบรวมรายชื่อหนังที่ผมได้ดูในปีนี้ ย้ำว่าหนังที่เข้าฉายในไทย ในปี 2013 เท่านั้น โดยลิสท์รายชื่อมาได้ทั้งสิ้น 30 รายชื่อ และขอเรียงตามลำดับความชอบเลยล่ะกัน ถูกใจใคร ขัดใจคงต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง


1.        Boyhood
ทำไมต้องดู : เพราะนี่คือหนังที่ได้รับการกล่าวขานกันอย่างมากมายว่าจะมีบทบาทอย่างมากในเวทีรางวัล เมื่อได้ดูจะพบว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

2.
       Inside Llewyn Davis
ทำไมต้องดู : แม้ออสการ์จะให้รางวัลหนังเรื่องนี้น้อยกว่าความเป็นจริง ก็ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของหนังลงไปแต่อย่างใด หนังเหงาๆ ของนักดนตรีที่อนาคตดูมืดมัว ในบรรยากาศหนาวๆ เพลงเพราะๆ ผลงานกำกับของสองพี่น้องโคเอ็น

3.
       The Fault in Our Stars
ทำไมต้องดู : หนังสร้างจากนิยาย YA ชื่อเดียวกันของนักเขียนที่น่าจับตา John Green เล่าเรื่องราวความรักของเด็กหนุ่มหญิงสาว ที่ต้องต่อสู้กับมะเร็งร้าย ในช่วงสุดท้ายชีวิต

4.
       Begin Again
ทำไมต้องดู : เป็นหนังโลกสวยที่ดูแล้วหัวใจพองโตอย่างบอกไม่ถูก แม้หนังจะไม่หวือหวาเทียบเท่า Once แต่ด้วยการที่หนังเปิดประตูเชื้อเชิญคนดูเข้าไปสัมผัสกับโลกดนตรีได้อย่างหมดตัว พร้อมๆกับกระแสเพลง Lost Stars ที่ฮิตติดลมบนจนถึงทุกวั้นนี้

5.
       Gone Girl
ทำไมต้องดู : เพราะนี่คือหนังฮิตเสียยิ่งกว่าอิตของผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบเท่า The Social Network แต่ Gone Girl กับให้รสที่เผ็ด เข็ดฝัน และตอนจบที่หลอนจับใจ

6.       The Wind Rises
ทำไมต้องดู : แม้หนังจะมีความยาวกว่าสองชั่วโมง แม้ช่วงกลางเรื่องจะยืดเยื้อไปบ้าง แต่ใครจะกล้าปฏิเสธว่านี่คือ Masterpiece อีกเรื่องของ อาจารย์ ฮายาโอะ มิยาซากิ แห่งค่ายจิบลิ

7.
       Her
ทำไมต้องดู : สไปค์ โจนส์ เป็นคนทำหนังรุ่นใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพหลายๆด้าน และหนังเหงาๆซึม ของชายผู้ตกหลุมรักระบบปฏิบัติการเรื่องนี้คือหลักฐานชั้นดี

8.
       Whilplash
ทำไมต้องดู : ผลงานมีชั้นเชิงเหลือร้ายของผู้กำกับ Damien Chazelle เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากหลายเสียงว่ารสชาติถึงพริก ถึงขิง หนังจบแต่เสียงกลองยังคงสั่นระรัวในโสตประสาต
9.       Under the Skin
ทำไมต้องดู : ยากจะบรรยายกับการได้ดูหนังเรื่องนี้ หนังพูดน้อยแต่ต่อยหนัก ในความว่างเปล่ากลับหนักอึ้ง แม้จะไม่เข้าใจ Message ที่หนังต้องการจะสื่อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่กับติดค้างอยู่ในใจ ให้ทบทวนตลอดเวลา

10.
    Saving Mr. Banks
ทำไมต้องดู : หนังขายการแสดง สร้างจากเรื่องจริงผ่านการปรุงแต่งอันชาญลาดส่งผลให้หนังเรื่องนี้ดูสนุกอย่างเหลือเชื่อ แม้จะติดกลิ่นการ์ตูนอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่หนังเน้นบันเทิงทำให้การหยิบหนังเรื่องนี้มาดูซ้ำเป็นเรื่องไม่ยากเย็น  

11.
      Captain Phillips
ทำไมต้องดู : สร้างจากเรื่องจริง(อีกแล้ว) โดยผู้กำกับจอมสั่น พอล กรีนกราส์ส ตัวหนังทวีความตื่นเต้นขึ้นเรื่อยๆราวกับหนังรถไปเหาะตีลังกา

12.
     Big Hero 6
ทำไมต้องดู : นี่คือหนังที่มีอารมณ์ของ ดิสนี่ย์  มาร์เวล และ จิบลิ เข้าด้วยกันอย่างลงตัวจนก่อให้เกิดกระฟีเวอร์ เบย์แม็กซ์ กันในหมู่คนดู และส่วนตัวชอบกว่า Frozen เยอะ

13.
     Fury
ทำไมต้องดู : หนังสงครามเรื่องนี้ไม่ได้ขับเน้นด้วยฉากแอ็คชั่น สงครามหากแต่ดำเนินไปด้วยพลังของทีมนักแสดง และวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ ผ่านสัญลักษณ์ ภาษาหนัง จนได้ผลลัพธ์ที่น่าจดจำ

14.
    Dawn of the Planet of the Apes
ทำไมต้องดู : หนังภาคต่ออันทรงคุณค่าที่คุณภาพล้ำหน้าแฟรนไชส์หนังชุดนี้ทุกภาค หนังอัดแน่นด้วยความลุ้นระทึก ดราม่า และตื้นตันใจ ไม่บอกก็รู้ว่านี่คือหนัง(แมส)ดีๆ อีกเรื่องของปีอย่างแท้จริง

15.    The Wolf of Wall Street
ทำไมต้องดู :   ผลงานของผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ที่มาพร้อมนักแสดงคู่บุญ ลีโอนาร์โด ดิคราปิโอ พร้อมเรื่องจริงของบุคคลที่ฉาวโฉ่อีกคนบนโลกอย่าง จอร์แดน เบลฟอร์ ผลลัพธ์คือหนังที่ตีแผ่เบื้องหน้า เบื้องลึกได้อย่างถึงก้นบึ้ง

16.
    All is Lost
ทำไมต้องดู : อาจเป็นความทรมาณใจเล็กน้อยระหว่างที่ดูหนังปราศจากคำพูดเรื่องนี้ ต่างจากความรู้สึกตอนจบอย่างมาก ที่อยากจะบอกกับคนอื่นๆว่า นี่ล่ะคือ ชีวิต (หนังมีความคล้ายคลึงกับ Gravity อยู่บ้างเพียงแต่สภาพแวดล้อมที่ต่างกัน)

17.
     Enemy
ทำไมต้องดู : การเล่าเรื่องขอหนังเรื่องี้เต็มไปด้วยปริศนาและสัญลักษณ์ ก่อนจะปิดม่านลงด้วย ฉากที่น่าตื่นตายิ่งกว่า ฉากหุ่นยนตร์ตะลุมบอนกัน ใครที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วไม่ก่นด่าก็ต้องชื่นชม ล่ะว่ะ

18.
     The Grand Budapest Hotel
ทำไมต้องดู :  เวส แอนเดอร์สัน เป็นผู้กำกับที่มีแนวทางชัดเจนมากๆ จนมีแฟนบอยตามติดมากมาย และหนึ่งในนั้นคือผม นับจนถึงขณะนี้ยังไม่เคยรูจักคำว่า ผิดหวัง

19.
    Captain America: The Winter Soldier
ทำไมต้องดู : หากเปลี่ยนชื่อหนัง ตัดคำว่า กัปตันอเมริกา ออกไป นี่คือหนังสายลับชั้นเยี่ยม ที่เล่นกับความรู้สึกคนดูได้อย่างแยบยล
20.   Dallas Buyer Club
ทำไมต้องดู : ยอมรับว่าครึ่งหลังหนังดูดรอปลง แต่การแสดงของสองนักแสดงนำที่คว้าออสการ์ไปด้วยกันทั้งคู่ แมทธิว แมคคอนนาเฮย์ในบทนำชาย และ จาเร็ด เลโต้ ในบทสมทบชาย ช่วยโอบอุ้มหนังเรื่องนี้ได้อย่างน่าชื่นชม  
21.     X-Men : Days of Future Past
ทำไมต้องดู : เป็นการกลับมาหลังจาก First Class ที่ยิ่งใหญ่ และสนุก ไม่เสียรสชาติความเป็นเอ็กซ์เม็น เป็นการสานต่อเรื่องราวที่น่าจดจำ

22. Edge of Tomorrow
ทำไมต้องดู : เพราะนี่เป็นหนังแอ็คชั่นที่มีฉากแอ็คชั่น และเนื้อเรื่องที่เข้มข้น ทั้งยังเป็นการกลับมาของผู้กำกับ Doug Liman ที่น่าจดจำ

23. The Rover
ทำไมต้องดู : การแสดงที่น่าจดจำของสองนักแสดงนำ Guy Pearce และ Robert Pattinson ซึ่งจะไม่หลงเหลือคราบของนักแสดงหนุ่มสุดหล่ออีกต่อไป ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่พูดน้อยแต่ต่อยหนัก มาในบรรยากาศที่แสนรกร้างของทะเลทรายแสนร้อนและกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา สถานการณ์ที่ลุ้นระทึก บีบบังคับ จัดว่าเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งของปีที่ไม่อยากให้พลาด

24. How to Train Your Dragon 2
ทำไมต้องดู : หนังภาคต่อที่ไม่เพียงแต่ทำเงินแต่ล่าสุดยังคว้ากล่องจากลูกโลกทองคำไปนอนกอดในสาขาอะนิเมชั่นยอดเยี่ยมแห่งปี ด้วยตัวเนื้อหาที่เติบโตขึ้นและประเด็นอันละเอียดอ่อนของคำว่า หน้าที่ อันมาพร้อม ครอบครัว และคนที่ต้องดูแล ส่งให้หนังเรื่อนี้เอาชนะใจกรรมการและนักวิจารณ์ได้ไม่ยาก

25. The Hobbit: The battle of the Five Armies
 ทำไมต้องดู : เนื้อหาอาจดูพร่องๆไป แต่ถูกแทนที่ด้วยฉากแอ็คชั่นสุดแสนอลังการงานสร้างที่ชวนให้ตะลึงงัน เป็นการอพลาโลกมิดเดิ้ลเอิร์ธที่น่าจดจำ

26. 12 Years a Slave
ทำไมต้องดู : เจ้าของออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีที่แล้ว กับประเด็นเรื่องการค้าทาส การแบ่งแยกสีผิว ที่ดูจริง ทำให้หลายคนที่ได้ดูรู้สึกหดหู่ไปตามๆกัน

27. Guardians of the Galaxy
ทำไมต้องดู : เป็นตัวอย่างของหนังฮีโร่ที่ดี มีเสน่ห์น่าจดจำ ท่ามกลางหนังฮีโร่นับสิบเรื่องที่ผุดขึ้นมายิ่งเสียกว่าดอกเห็ด  Guardians of the Galaxy สอบผ่านด้านความบันเทิงได้อย่างขาดลอย

28. The Maze Runner
ทำไมต้องดู : กลายเป็นภาคต่ออันทรงคุณค่าอีกเรื่องหนึ่งของฮอลลีวู้ดไปแล้ว สำหรับ The Maze Runner แม้หลายคนจะบ่นถึงความไม่สมบูรณ์ในตัวหนังอยู่บ้าง แต่โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกชอบและลุ้นไปกับการผจญภัยของตัวละครจนอดที่จะเอ่ยปากชมไม่ได้

29. The Hunger Games: Mockingjay - Part 1
ทำไมต้องดู : หนังอาจดูเนิบนาบไปบ้าง แต่เนื้อในของหนังยังคงสร้างแรงสะเทือนได้อย่างน่าสนใจ แม้จะตอบโจทย์ความบันเทิงไม่ได้มากนัก

30. Interstellar
ทำไมต้องดู : เป็นหนังของ โนแลน ที่คุณภาพก่ำกึ้ง และส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึก หลงรัก แต่อย่างใด ที่ต้องเอ่ยปากชมคงเป็นเรื่องของเนื้อหา ที่ค่อนข้างแน่น และงานด้านภาพที่ดูดี ก็ส่งผลให้กลายเป็นความชื่นชอบในระดับกลายๆได้เช่นกัน


คนรัก "หนัง" #1

คนรัก "หนัง" #1


คนรัก "หนัง" #1

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาผมได้เข้าเรียนในวิชา ภาพยนตร์ปริทัศน์ ซึ่งเป็นรายวิชาหนึ่งของคณะ และมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่ ผมชอบดูหนังครับ ใช้เวลาทั้งวันไปกับการดูหนัง(ดีๆ) ได้โดยไม่ปริปากบ่น ตอนเด็กๆผมก็เติบฌตมาพร้อมๆกับทีวีจอนูนขนาดใหญ่ที่ภาพและเสียงขาดๆหายๆ อยู่บ่อยๆ จนน่ารำคาญ จนทุกวันนี้จอทีวีวิวัฒนาการจนบางเฉียบเรียบเสียยิ่งกว่ากระดาษ พร้อมความชัดในระดับที่กลัวว่า มันจะบาดเข้าไปในลูกนัยน์ตา

วิชาดังกล่าวพูดถึงภาพยนตร์โดยรวม ทั้งเรื่องของ "บทบาท หน้าที่ กระบวนการผลิต ประโยชน์ของภาพยนตร์ วิวัฒนาการของภาพยนตร์ตั้งแต่อดีต เพื่อความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและรูปแบบ ตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสามารถวิเคราะห์ความหมายเชิงศิลปะ วัฒนธรรม จนถึงวิธีการสื่อสารของภาพยนตร์แนวต่างๆได้" นั่นคือสิ่งที่ผมอ่านจาก "ขอบเขตการศึกษา" ที่ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษซึ่งแจกให้ในตอนต้นของการเรียน

รุ่นพี่หลายๆคนบอกว่า วิชานี่เรียนสนุกแต่ตอนสอบนี่หินมากๆ ต้องใช้ความจำล้วนๆ ผมเองก็หวั่นๆนะ แต่ผมก็ไม่สนใจ ด้วยความที่รักหนังเป็นแรงดึงดูดชั้นเยี่ยม

มาถึงคาบแรก อาจารย์ผู้หญิงผมสั้น ท่าทางทะมัดทะแมงสวมเสื้อกันหนาวคลุมเนื่องจากอากาศค่อนข้างเย็นเดินเข้ามาพร้อมโน้ตบุ้คในมือ ได้สอนถึงความหมายและประเภทของภาพยนตร์ ว่าถูกนิยามและแบ่งไว้เป็นหมวดหมู่อย่างไรบ้าง เนื่องจากอาจารย์ยังอยู่ในวัยฮอร์โมน การเรียนจึงเต็มไปด้วยความสนุก แม้จะมีความเป็นวิชาการแต่กลับไม่รู้สึกเบื่อ

ภาพยนตร์นั้น สามารถนิยามได้หลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นๆ อยู่ในสาขาวิชาใด
"อุตสาหกรรมสื่อ" มองในมุมมองของนักธุรกิจ
ภาพยนตร์คืออุตสาหกรรมสื่อ เป็นสื่อมวลชนประเภทหนึ่ง สื่อสารไปยังผู้คนจำนวนมากได้
ที่บอกว่า ภาพยนตร์นั้นเป็นอุตสาหกรรมนั้น เพราะมันเริ่มเป็นธุรกิจมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก มีการลงทุนที่สูง ความเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย(ตัวอย่างที่ชัดและเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศอย่าง ศรีธนญชัย 555+) แต่ก็เช่นเดียวกันกับรายรับ ผลตอบแทนก็สูงตามไปด้วย(กรณีพี่มากพระโขนงของไทย ที่เรียกได้ว่าเป็น Phenomenon) มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจน(จากโรงภาพยนตร์ จากการขายดีวีดี วิซีดี) มีการผลิตแบบอุตสาหกรรม(คือเน้นกำไรมากกว่าคุณภาพ)

มองในมุมมองของ พรบ.ภาพยนตร์และวิดิทัศน์ 2551 "วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือทั้งภาพและเสียง ซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง" นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ ภาพยนตร์ในประเทศไทยสามารถถูกเซ็นเซอร์ โมเสก ตัด ทอน ริบรอนเนื้อหา เนื่องจากกฏหมายมอง ภาพยนตร์ว่า เป็นเพียง "วัสดุ" มากกว่าจะมองเป็น ผลงานทางด้านศิลปะ

"ศิลปะของพื้นที่และเวลา" มองในมุมของผู้กำกับอินดี้หน่อยๆ
"ศิลปะแขนงที่เจ็ด" มองในมุมมองของนักศิลปะ
แล้ว ศิลปะที่เจ็ดคืออะไร มันคือการรวมศิลปะทั้งหกแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ประกอบไปด้วย
-จิตรกรรม ซึ่งก็คือภาพที่เรามองเห็น
-ประติมากรม คือฉากของภาพยนตร์ที่เราเห็นยกตัวอย่างหนังออสการ์เมื่อปีก่อนอย่าง The Great Gatsby หรือที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ Hugo และ Avatar
-สถาปัตยกรรม คือสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือนต่างๆที่ปรากฏ
-คีตกรรม คือ เพลง ดนตรี Score ยกตัวอย่าง เพลง Let it go ที่ร้องกันทั่วบ้านทั่วเมือง หรือ Begin Again ของสุดหล่อ Adam Levine
-นาฏกกรรม คือการแสดง การเต้นรำ
-และสุดท้ายวรรณกรรม มักจะเป็นนส่วนของงาน Pre-Production ในเรื่องของ บทภาพยนตร์ เป็นต้น

รวมกันเป็น ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ว่าด้วยพื้นที่และเวลา คือ จิตรกรรม,ประติมากรม,สถาปัตยกรรม เป็นศิลปะที่เน้นในเรื่องของพื้นที่ในการเสพ ขณะที่ คีตกรรม, นาฏกกรรม และวรรณกรรม จะใชเวลาในการเสพค่อนข้างนาน

แล้วทำไมคนไทยถึงเรียกว่า "หนัง" คำตอบง่ายนิดเดียว ที่มาของคำมาจาก มหรสพชนิดหนึ่งของไทยที่มีชื่อเรียกว่า "หนังใหญ่" และการแสดงชนิดหนึ่งของทางภาคใต้ในไทยอย่าง "หนังตะลุง" คือมีการแสดงภาพด้วยแสงและเงาบนจอผ้าขาวที่เรียกกันว่า การแสดงหนัง จึงกลายมาเป็นคำเรียกติดปากของคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้

คำในภาษาต่างประเทศ อย่าง Film, Movie, Cinema, Motion Picture, Flick, Celluloid ก็มีความแตกต่างกันแม้โดยรวมจะใช้เรียก "หนัง"

Film จะมีความหมาย สามัญ ไว้ใช้พูดทั่วๆไป เรียกภาพยนตร์ประเภทต่างๆ เช่น Short Film, Student Film
Movie มักใช้ในความหมายภาพยนตร์ดัง มีการลงทุนสูง อย่างพวกหนังสตูดิโอ ส่วนใหญ่จะใช้ในสหรัฐอเมริกา พวกหนัง Hollywood, Blockbuster Movies
Cinema(Kinema) ใช้ในเชิงศิลปะและสุนทรียศาสตร์ พวกหนังอาร์ต หนังยุโรป(มักจะดูไม่รู้เรื่อง ใส่สัญลักษณ์ ภาษาหนังมากมาย) หรือเรียกโรงภาพยนตร์
Motion Picture ภาพเคลื่อนไหว เชิงเทคนิค รวมทั้งเรียกในเชิงธุรกิจและองค์กร
Flick เป็นศัพท์Slang มีที่มาจากคำว่า Flicker คือเมื่อก่อนการฉายภาพยนตร์จะใช้ฟิล์มและระหว่างการเปลี่ยนจะมีแสงกระพริบ พรึ่บ พรั่บ อันเกิดจากเครื่องฉายที่เรียกกันว่า Flicker
สุดท้าย Celluloid มีที่มาจากส่วนประกอบของฟิล็มภาพยนตร์ในยุคแรกๆ (แนะนำให้ดู Cinema Paradiso)

การแบ่งประเภทของภาพยนตร์ คนส่วนใหญ่มักแบ่งออกเป็นหนังผี หนังตลก หนังรัก หนังแอ็คชั่น ซึ่งก็ไม่ผิดแต่นั่นเป็นการแบ่งเพียงส่วนเสี้ยวอยู่ในการแบ่งโดยใช้เกณฑ์เนื้อหา แต่ในทางวิชาการเรายังสามารถแบ่งออกได้อีก โดยใช้เกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
-เกณฑ์ระบบการสร้าง
-เกณฑ์รูปแบบการนำเสนอ
-เกณฑ์วัตถุประสงค์การใช้งาน
-และเกณฑ์เนื้อหา

เกณฑ์ระบบการสร้าง ก็จะมีสองรูปแบบ คือ
-Independent Film หรือก็คือหนังอินดี้ หนังอิสระ
สร้างโดยผู้สร้างอิสระทีมงานกลุ่มเล็กๆ ทุนสร้างไม่สูง เนื้อหาไม่อิงความต้องการของตลาด มีความแปลกใหม่และไม่แสวงหาผลกำไรหรือผลทางการค้า มีแนวคิดว่า ภาพยนตร์ คืองานสร้างสรรค์ คือศิลปะ รูปแบบการนำเสนอก็มีความโดดเด่น แหวกแนว มักจัดฉายในโรงภาพยนตร์เฉพาะหรือตามเทศกาล กลุ่มคนดูก็เฉพาะกลุ่ม มีจำนวนไม่มากนัก คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก ยกตัวอย่างผู้กำกับในไทย เช่น คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, คงเดช จาตุรันต์รัศมี และที่มาแรงอย่าง นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

-Studio Film เป็นรูปแบบการผลิตขนาดใหญ่ มีเงินทุนในการจัดการสูงมาก เนื้อหาเป็นไปตามกระแสของตลาดผู้บริโภค ความต้องการของนายทุนรวมทั้งนโยบาย ทิศทางของสตูดิโอ มีแนวคิดว่า การทำภาพยนตร์ คือ การทำธุรกิจ ภาพยนตร์คือสินค้าทำกำไรให้กับบริษัท ดาราที่แสดงก็มักจะมีชื่อเสียง ทีมงานมีการแบ่งงาน หน้าที่กันทำอย่างชัดเจน แบ่งตามความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ จัดฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไป

ความต่างอันเป็นเส้นแบ่งระหว่างระบบอินดี้และสตูดิโอ คือ ที่มาของแหล่งเงินทุนในการสร้าง
ระบบอินดี้ที่มาของทุนมักจะมากจาก ทุนส่วนตัว ทุนจากรัฐบาล(ซึ่งแน่นอนว่าในไทยเคยมี แต่ตอนนี้น่ะหรือ หึหึหึ) ทุนจากเทศกาลภาพยนตร์ เช่น Rotterdam, Busan, Berlin ทุนสาธารณะ เช่น Indiegogo, Kickstarter ทุนจากองก์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น Sundance ที่มีส่วนคาบเกี่ยวกับเทศกาลภาพยนตร์รวมอยู่ด้วย ขณะที่สตูดิโอจะมีเงินทุนจากตัวสตูดิโอเอง หรือสปอนเซอร์เล็กใหญ่ ที่เข้ามาขอมีส่วนร่วม

เกณฑ์รูปแบบการนำเสนอ แบ่งย่อยได้อีกสามประเภทคือ
-Realism(สัจนิยม) นำเสนอ ความจริง ใช้เทคนิคเพียงเล็กน้อย อย่างเช่นการตั้งกล้องคุณป้าข้างบ้านรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
-Formalism (รูปแบบนิยม) มีการใช้เทคนิค ปรุงแต่งอย่างเข้มข้น รายละเอียดยุบยับ เน้นการนำเสนอแนวคิดและการสร้างความหมายพิเศษของผู้สร้าง
-Classical Cinema (ดรามา) เป็นรูปแบบของภาพยนตร์ในเชิงการค้าที่เห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน เป็นแนวที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Realism และ Formalism

เกณฑ์วัตถุประสงค์การใช้งาน แบ่งลงไปได้อีก 6 ประเภทด้วยกัน
-ภาพยนตร์บันเทิง (Entertainment Film) ก็เป็นภาพยนตร์ทั่วๆไป ตั้งแต่เจ้าหญิงดิสนี่ย์จนถึง Titanic
-ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา (Educational Film) เพื่อต้องการให้ความรู้ ให้ทราบบางสิ่งบางอย่าง
-ภาพยนตร์สารคดี (Documentary Film) เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนดูตามที่ผู้สร้างต้องการให้เป็น
-ภาพยนตร์ข่าว (Newsreel) มีความเป็นจริงมากกว่า ภาพยนตร์สารคดี มีคุณค่าของความเป็นข่าว อาจมีความทันต่อเหตุการณ์
-ภาพยนตร์โฆษณา (Advertising Film) จะมีการโน้มน้าวใจ เกินจริง (จนถึงขั้นขี้โม้) สร้างภาพลักษณ์ บางครั้งก่อให้เกิดการครอบงำทางวัฒนธรรม ค่านิยม
-ภาพยนตร์ทดลอง (Experimental Film) จุดประสงค์ก็เพื่อการทดลองบนวัตถุประสงค์บางอย่างเช่น แนวคิดทางศิลปะ ทฤษฎี การสร้าง ศิลปินที่มีชื่อเสียงในภาพยนตร์แขนงนี้เช่น Andy Warhol ศิลปินชาวอเมริกัน

สุดท้ายคือ แบ่งตามเกณฑ์เนื้อหา และ เวลาสามชั่วโมงของการเรียนก็จบลง.. ยอมรับว่าผมค่อนข้างมีความสุขกับการเรียนในวิชานี้ และผมจะพยายามนำเนื้อหาที่ได้เรียนมาสรุปแล้วพิมพ์ไว้ อย่างน้อยก็เอาไว้อ่านทบทวนก่อนสอบ จนถึงบุคคลที่สนใจได้เข้ามาร่วมอ่าน เป็นความรู้เล็กๆน้อยๆ เสริมไปด้วย สำหรับคนที่รักหนัง เหมือนกันกับผม




วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รีวิว Big Hero 6

"Hello. I am Baymax, your personal healthcare companion."



กล่าวโดยย่อๆ นี่คืออะนิเมชั่นจากฝั่ง Disney ที่ชอบที่สุดนับจาก Tangled ในปี 2010 หนังดัดแปลงหลวมๆมากจากการ์ตูนของ Marvel ฉะนั้น หนังเรื่องนี้จึงมีกลิ่นอายของ Marvel อยู่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลัง


แม้หนังจะไม่ได้เล่นท่ายากอะไร แต่การออกแบบตัวละครไปถึงออกแบบสถานการณ์ที่ตัวละครต้องพบเจอหลายๆฉากนั้นออกมาดูดีเกินคาด งานด้านภาพที่พัฒนาไปไกล แต่ที่เทใจให้อะนิเมชั่นเรื่องนี้คือ ความลงตัวระหว่าง การเล่นแอ็คชั่นเข้ากับงานดราม่าที่เข้ากันมากๆ รวมไปถึง สภาวะสีเทา ซึ่งช่วงหลัง Disney เล่นมุกนี้จนเกร่อแล้ว แต่กับ Big Hero 6 ถือว่ามาถูกจังหวะเวลา หลายฉากทำเอาน้ำตาซึมได้เลยทีเดียว


Big Hero 6 ถือเป็นอะนิเมชั่นอีกเรื่องหนึ่งของปีนี้ ที่ยัดคุณสมบัติของหนังดีเข้าไว้เกือบหมด เป็นหนังที่ไม่มีพิษภัย ผู้ใหญ่ดูได้ เด็กดูดี เหมาะกับช่วงเวลาปลายปีแบบนี้ สำหรับผู้ที่แสวงหาความสุขบนจอภาพยนตร์


วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เพื่อนเฮี้ยน โรงเรียนหลอน Ep.1-ุ6

ขอพื้นที่เล็กๆคอมเม้นต์ ค่ายหนังที่รักมากอย่าง GTH  กับซีรี่ย์ชุด เพื่อนเฮี้ยน โรงเรียนหลอน  ที่ ณ เวลานี้ปล่อยมาให้ ชื่มชม(ก่นด่า) แล้ว 6 Episodes แล้ว




1.        วนิดา
B-
เป็นการเปิดตัวซีรี่ย์ที่ดีในระดับนึง บรรยากาศความหลอนมาเต็ม ฉากหลอกผีถือว่า ผ่าน จังหวะลงตัว นักแสดงทำให้เราอินได้ในระดับนึง แต่ทำไมรู้สึกว่า เวลาดู มันไม่ค่อย สมูธ มันมีบางอย่างติดๆขัดๆ บางฉากก็ดูขาดๆเกินๆ (ส่วนใหญ่ออกมาเกิน) และที่ชอบคือ จุดหักมุมของหนังไปจนถึงตอนจบ ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของ วนิดา




2.ตาย-ตาม
C
การกำกับครั้งแรกของพี่เต๋อ ฉันทวิชช์ ส่วนตัวค่อนข้างคาดหวังกับตอนนี้พอสมควร แต่เมื่อดูจนจบแล้ว รู้สึกว่า หนังไม่ได้มีอะไรมากเลย จุดหักมุมก็ไม่ได้รู้สึกเซอร์ไพร์ส หรือทำให้เราสะอึกได้  ตัวละครบางตัวก็ดูน่ารำคาญเกินกว่าจะเอาใจช่วย เช่นกันกับตอนแรกคือ บางอย่างดูขาดๆเกินๆ แต่ที่ชอบคงเป็นในเรื่อง ของ ความพยายามจะเท่ห์ ของพี่เต๋อ ซึ่งถือเป็นความทะเยอทะยาน ที่น่าชื่นชม หากวันนึงพี่เต๋อ เลือกจะเดินบนเส้นทางเบื้องหลังแล้วก็เป็นเรื่องที่น่ารอติดตาม



3.แช่ง
D-
ดูเป็นตอนที่มีอะไรให้เล่นมากมาย แต่แล้วหนังกลับไปไม่ถึง มิหนำซ้ำหนังแสดงทั้งหมด ย้ำว่านักแสดงทั้งหมดของตอนนี้กลับมีสถานะไม่ต่างจากการดู หุ่นตุ๊กตาปั้นสองมิติ เดินผ่านหน้ากล้อง เว้นแต่เบลล์ เขมิศรา พอเอาตัวรอดได้ การลำดับเรื่องถือว่าผิดพลาดหมด อารมณ์หนังนิ่งยิ่งกว่าน้ำเน่าในคลอง หนักกว่านั้น ผีที่มาจากโทรศัพท์ นี่มันไม่น่ากลัวเลยสักนิด แอบสงสัยว่า ตอนนี้ปล่อยให้หลุดมาได้ยังไง หายนะที่หนักกว่าคือ การฉีกหักมุม ในตอนท้าย แทยี่จะเป็นสิ่งที่ดี กลับกลายเป็นการดิ่งลงเหวลึก จนไม่อาจให้อภัย ได้



4.สายไม่ได้รับ(เชิญ)   
A
สองตอนก่อนหน้าทำเอาหมดศรัทธากับ GTH ไปพักใหญ่ ยิ่งเห็นตัวอย่างของ สายไม่ได้รับ(เชิญ) ยิ่งกุมขมับ ก่อนจะพบว่า เป็นความเข้าใจผิด ตัวหนังจริงๆ ดีมากๆ แม้จะไม่มีฉากหลอกผีออกมาเลยสักฉากเดียว แต่ทุกอย่างมันครบมาก ทั้งจังหวะ ลีลาการหลอกล่อคนดู ปริศนาในเรื่อง เงื่อนงำต่างๆ ดูสอดคล้องกับทิศทางที่หนังส่งมา นักแสดงหน้าใหม่อย่าง แบงค์ ธิติ แสดงดีมาก จนอยากมอบรางวัลให้ไปนอนกอด ผู้กำกับมีแนวทางที่ชัดเจน การกำกับมีความแม่นยำสูงมาก ดูจบแล้วรู้สึกอยากโทรศัพท์ไปคุยกับคนที่เรารักเลยทีเดียว



5.ปู่โสม
B-

เป็นตอนที่ผมเห็นว่ามีความใกล้เคียงกับวนิดา ทั้งเนื้อเรื่องและมุมมอง อาจเพราะมาจากผู้กำกับคนเดียวกันก็เป็นได้ รวมทั้งตัวเรื่องยังเล่นกับแนวคิด ความเชื่อแบบไทยๆ ทำให้มีความใกล้ชิดกับคนดูค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ชอบคือ ฉากหลอกผีที่มาแบบ non-stop ที่ทำได้ถึงใจจริงๆ ส่วนตัวชอบการแสดงของนักแสดงนำด้วย โดยเฉพาะ ฟรัง นรีกุล แม้การแสดงในบางช่วงบางตอนอาจไม่ชัด แต่โดยรวมแล้วน่าจดจำ  ไม่ต่างจากตอนที่รับบท ออย ในฮอร์โมน ซีซั่นสอง


6. สวยสยอง

C

ที่ต้องขอชื่นชมคือฝั่งนักแสดง มาร์ช จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล กับการแสดงที่ดูเข้าถึงบทบาททำให้การดูตอน สวยสยอง นี้ ไม่ตะกุกตะกัก แต่วิสัยทัศน์การนำเสนอของผู้กำกับยังดูไม่เฉียบคมพอ แม้หนังจะใส่ใจในรายละเอียดต่างๆที่พยายามบอกใบ้ให้กับคนดู แต่พอถึงจุดที่หนังเฉลยปม ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึก ลึก มากขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเพราะหนังตอนนี้พยายามใส่ความเป็น ฮอร์โมน ลงมามากเกิน จนทำให้พาร์ทสยองขวัญมันดูผิดที่ผิดทาง ราวกับสองส่วนไม่บรรจบกันจนแนบสนิทได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แย่จนรับไม่ได้ อาจเพราะตัวหนังก็ไม่ได้พยายามจะทะเยอทะยาน ทำให้ตอนนี้อยู่กึ่งกลาง มาตรฐานค่อนข้างพอดูได้


วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

Whiplash "เพื่อดาวดวงนั้น ที่ฝันที่อยากเป็น"

Whiplash     เพื่อดาวดวงนั้น ที่ฝันที่อยากเป็น

ไม่ว่าจะมองในมุมไหน Whiplash ย่อมเป็นหนังที่สมควรดู อีกเรื่องหนึ่งในปีนี้ และ(ต้อง)มีบทบาทในเวทีปลายปีอย่างแน่นอน


เพียงตัวอย่างที่หนังปล่อยออกมายั่ว ก็ทำให้ผมกระสันที่จะดูหนังเรื่องนี้ แน่นอนว่าคะแนน บวกคำชมที่หนังได้รับย่อมเป็นตัวเร้าชั้นดี และผลลัพธ์หลังจอปิดม่านลง ไม่ได้ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเทใจให้หนังเรื่องนี้


ผมขอเรียก Whiplash ว่ามีสถานะไม่ต่างจาก Black Swan Version ผู้ชาย แม้ว่า Whiplash จะมีความโลกสวยอยู่มากกว่าก็ตามที เนื้อหาหนังก็ตรงๆตามที่ ตัวอย่าง บอกเอาไว้ คือการก้าวไปสู่ความฝันของนักเรียนดนตรีผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งถูกกดดันจากผู้คนรอบข้าง รวมทั้งตัวเขาเอง การไปสู่ฝันของเขายังต้องถูกทดสอบโดยอาจารย์ผู้ไม่สนใจอะไรนอกจาก ความสมบูรณ์แบบ แต่ระหว่างทางหนังมีลูกเล่นเยอะมากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ สร้างโลกของตัวละคร Andrew ได้เข้าขั้นสมบูรณ์  และขณะที่หนังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ เราจะเห็นถึง ความแตกต่างของตัวละครผู้นี้ และหนังก็ได้ซ่อนไม้ตายเอาไว้ ในองก์สุดท้ายของหนัง  และน่าจะทำให้หลายคนชื่นชมปนสมเพชตัวละครรายนี้ในเวลาเดียวกัน

ที่ต้องพูดถึง คือการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดระหว่างสองนักแสดงนำ Miles Teller ในบท Andrew นักดนตรีมือกลองผู้อ่อนโยน (ขอใช้คำนี้) กับครูสุดโหด Fletcher รับบทโดย J.K. Simmons นับว่าเป็นการแสดงที่ดีที่สุดของเขาเลยก็ว่าได้ หากไม่อินกับการไขว่คว้าความฝัน แค่ได้รับชมการแสดงอันล้ำค่าก็เกินค่าตั๋วไปแล้ว ยิ่งรู้ว่า Miles Teller เป็นนักดนตรีมือกลองจริงๆด้วยแล้ว(ไม่ใช่การใช้สแตนอินแล้วแปะหน้านักแสดงทับ) มันทำให้ ความน่าเชื่อถือ เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว 



Whiplash เป็นหนังรางวัลปลายปี ที่สมควรดูในโรงภาพยนตร์ แล้วเสียงกลองในท่วงทำนอง Whiplash จะถูกฝังลงไปในหูอีกนานแสนนาน และมันจะทำให้หนังอย่าง Begin Again เป็นนิทานก่อนนอนสำหรับน้องหนูไปเลย


วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ดูแล้วมาเล่า รีวิว Fury (2014)

พระเจ้ากำลังเฝ้ามองอยู่



ไม่รู้ว่าตัวเองไปถูกจริตกับหนังสงครามเข้าตั้งแต่เมื่อไหร่ คาดเดาว่าจุดเริ่มต้นน่าจะมาจากเมื่อ 7 ปีก่อน กับภาพยนตร์เรื่อง The Hurt Locker (2008) เป็นภาพยนตร์สงครามเรื่องแรกๆที่ผมได้ดู ก่อนจะค่อยๆสรรหาภาพยนตร์ยุคเก่าก่อนมาดู

Fury ไม่ใช่หนังที่ผมคิดจะไปดูในโรงภาพยนตร์เรียกว่าเป็นหนังที่แทบจะมองข้ามไปเลยก็ว่าได้ แม้ผมจะชื่นชอบหนังแนวสงครามเป็นต้นทุนก็ตาม เพราะตั้งใจจะไปดู Whiplash ที่ดูจะเข้าทางมากกว่า แต่ด้วยว่าไปสาย การจราจรติด ทำให้ต้องมาลงเอยกับ Fury

Fury เป็นภาพยนตร์ในเครดิตการกำกับของ David Ayer ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้พิสมัยกับหนังของเขาเท่าไหร่ เพราะหนังของพี่แกจะ แมน มากๆ ยกเว้นก็แต่ End of Watch ที่ดูแล้วลงตัวที่สุด การไปดู Fury เลยเป็นการลุ้นอีกด้วยว่า ท้ายสุดแล้ว จะชอบ หรือ เกลียด

Fury ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการ น่าเบื่อหน่ายเลยสักนิด หนังเปิดเรื่องมาอย่างมีนัยยะ และนั่นทำให้ผมรู้สึกว่า การพลาดชม Whiplash ไม่ใช่เรื่องน่าเสียหาย

เนื้อหาของหนังกล่าวถึง ปี 1945 ซึ่งกองกำลังสหรัฐอเมริกาได้บุกเข้าไปยังใจกลางของเยอรมัน เมืองเบอร์ลิน แต่การจะฝ่าเข้าไปได้นั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เหล่าทหารในนามรถถัง Fury มีหน้าที่ที่ต้องบุกทะลวงเข้าไป โดยมีกองทัพนาซีเป็นกำแพงขวางกั้น 

เนื้อหาต่อไป อาจมีสปอย

Main หลักของหนัง พูดถึง มิตรภาพ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แสนจะเลวร้าย อย่างสงครามโลกครั้งที่สอง หันมองไปทางไหนล้วนเต็มไปด้วยกลุ่มควันไฟขโมง โดยคนดูจะมีสถานะไม่ต่างจากตัวละครใหม่ที่เข้าร่วมกับ Fury อย่าง Norman Ellison รับบทโดย Logan Lerman ซึ่งเดิมทีเขาเป็นเพียงทหารฝ่ายเสมียน ไม่มีหน้าที่รบรา ฆ่าฟันใคร สมาชิกเก่าของ Fury ก็ให้การต้อนรับเขาอย่างดีเยี่ยม ประกอบไปด้วย Don 'Wardaddy' Collier (Brad Pitt), Boyd 'Bible' Swan (Shia LaBeouf),Trini 'Gordo' Garcia (Michael Peña) และ Grady 'Coon-Ass' Travis (Jon Bernthal) ก่อนทั้งหมดจะต้องเข้าไปสู่นรกใจกลางเยอรมัน

ซึ่งนักแสดงทุกคนต่างถ่ายทอดบทบาททหารที่ถูกสงครามกัดกินวิญญาณได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะ Brad Pitt ยังคงอยู่ในระดับ Top ไม่ต่างจาก Logan Lerman ที่แทบจะเป็นการพลิกบทบาทเลยก็ว่าได้

แม้จะเป็นหนังสงคราม แต่ก็เป็นหนังสงครามที่ดูไม่ง่ายเลย เพราะหนังใช้ภาษาภาพยนตร์อยู่ในตัวอยู่หลายฉากเลย และเชื่อว่าคนที่ดูหนังแบบคิดลึก คงต้องเสียน้ำตาให้กับหนังเรื่องนี้



เริ่มจากฉากแรก ที่ Don ใช้มีดแทงทหารนาซีอย่างเลือดเย็น สีหน้าไร้ซึ่งอารมณ์ ก่อนจะหันไปหาม้าสีขาวลูบไล้มันอย่างแผ่วเบาแล้วปล่อยให้วิ่งไปจากสมรภูมิรบ

การมาของตัวละครหน้าใหม่ Norman คำถามแรกๆที่ถูกถามคือ เชื่อในพระเจ้าหรือไม่ ? และหนังก็ทำให้เห็นว่า พระเจ้าอยู่กับเราในทุกที่แม้ใน สมรภูมินรกแห่งนี้ Norman ยังถูกเตือนด้วยว่า หลังจากนี้ เขาจะได้เห็นสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกัน อย่างไ่ม่อยากเชื่อสายตา

ฉากที่น่าจดจำอีกฉากคือ ทหารนาซี คนหนึ่งรอดจากความตายมาได้แต่กลับถูกจับตัวมา Don เรียกตัว Norman มา เพื่อให้สังหารนาซีรายนั้น เพราะก่อนหน้านี้ Norman ทำหน้าที่พลาด จึงก่อให้เกิดความสูญเสียขึ้นในกองกำลัง Norman ไม่สามารถแม้แต่จะเหนี่ยวไกปืน Don บังคับให้ Norman ฆ่า ปัง! เสียงกระสุนทะลุร่างทหารนาซี ผู้ร้องขอชีวิต เพราะเขามีครอบครัวรออยู่ ร่างนั้นนอนแน่นิ่ง Norman เสียใจกับเหตุการณ์นั้น จนคนในบ้าน(Fury) เรียกเขาไปนั่งคุย และนั่นอาจเป็นครั้งแรกๆที่ทำให้เราเห็นว่า สงครามมันกัดกินจิตวิญญาณ พรากเอาความเป็น มนุษย์ ไปจากตัว คน มากแค่ไหน แต่หนังกลับทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ความเป็นมนุษย์ของเราไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เราสร้างเกราะขึ้นมา ซ่อน ความอ่อนแอ เอาไว้ข้างไหน


ฉากต่อมาที่อยากพูดถึงคือ หลังจากยึดเมืองหนึ่งได้ เหล่าทหารก็สำราญใจไปกับ อาหาร สุรา นารี Don พา Norman เข้าไปสำรวจในบ้านของหญิงสาวผู้หนึ่ง ก่อนจะพบว่ามีหญิงสาววัยรุ่นราวคราวเดียวกับ Norman แอบซ่อนตัวอยู่ และ Norman ก็ได้สำเร็จในรักกับเธอผู้นั้น ขณะที่ Don ชำระร่างกายของเขากับน้ำอุ่น คราบเลือด คราบโคลน หายไป แต่แผลเป็นอันน่าหวาดกลัวบนแผ่นหลังของเขายังคงสนิทนิ่ง บางอย่างเราไม่สามารถลบมันออกไปได้ มันยังคงแฝงตัวอยู่อย่างนั้น Don Norman และหญิงสาวอีกสองคนกำลังจะรับประทานอาหารที่ดูหรูหรา อยู่ไม่น้อย คนในบ้าน(Fury) ก็โผล่มาทำลาย มื้ออาหารแสนสุขนั้น ฉากนี้เป็นฉากที่ดีมากๆ มันแสดงให้เห็นถึง ก้อนผลึกทางความคิดของผู้กำกับที่ตกตะกอนมาเป็นอย่างดี Gordo เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทั้งหมดเคยผ่านมาร่วมกัน ช่วงเวลาที่เลวร้าย ที่ทั้งหมดยังชีพด้วยการกินเนื้อม้าที่แสนขยาด เหตุการณ์ในอดีตนั้นมีทุกคนยกเว้น Norman แต่ในเวลานี้มื้ออาหารที่แสนหวานบนโต๊ะในบ้านหญิงสาวชาวเยอรมัน Don กับมีความสุขกับนายหารคนใหม่อย่าง Norman หากจะตีความให้ลึกซึ้ง มันกำลังพูดถึง ผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตักตวงเอาจากประเทศที่ผ่ายสงคราม (ในแง่นี้มีคนเขียนถึงไปแล้วในกระทู้พันทิป)

ขอรวบรัดไปยัง ฉากสุดท้าย ขณะที่ตัวละครเอกของเรื่อง คนหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บ เขาพยายามตะเกียกตะกายพาร่างที่บาดเจ็บเข้ามาภายในตัวรถถัง หลายครั้ง ที่เราพบเจอกับเรื่องเลวร้าย เรื่องที่เล่าสุดแสนจะทนไหว สถานที่แรกๆ ที่เรานึกถึงคือ บ้าน เช่นเดียวกับตัวละครรายนี้ เขาพูดตั้งแต่แรกว่า fury เจ้ารถถังคันนี้ คือบ้าน หากเขาจะตาย เขาขอตายในบ้านหลังนี้ ดีกว่าต้องยอมยกธงขาวแล้วปล่อยให้ นาซี ทรมานเขาจนตาย


ในฉากสุดท้ายของเรื่อง หลังการสูญเสีย ภาพที่เราได้เห็นคือ รถถัง Fury และศพเหนือคณานับอยู่รอบๆ ภาพ ณ จุดนี้ ถูกถ่ายด้วยมุม Bird Eyes View นอกจากจะทำให้เห็นภาพในมุมกว้าง ผลของสงครามได้ชัดเจนแล้ว ขณะเดียวกัน มันคือ สัญลักษณ์ที่หนังพูดถึง สายตาของคนที่อยู่เบื้องบน(พระเจ้า) ได้มองลงมายัง นรก แดนนี้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ อัดแน่นไปด้วย ความแปลกใหม่ทางด้านAction ในมุมมองใหม่ๆของหนังแนวสงคราม การแสดงที่เป็นธรรมชาติ ดนตรีที่เล่นน้อยแต่หนัก ช่วงต้นๆเรื่องหนังแทบจะไม่ใช้ดนตรีเข้าช่วยเลย ความนิ่งกลับแสดงท่วงทำนองความหนักแน่นและกดดันออกมาได้อย่างเสียงดัง ชัดเจน นี่เป็นผลงานอีกเรื่องที่ควรค่าแก่การรับชม โดยเฉพาะในโรงภาพยนตร์





วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

รีวิว Gone Girl (Film) ยามเธอหายไป ฉันนั้นคิดถึง

What are you thinking?

What are you feeling?

What have we done to each other?


What will we do?


ถ้าให้บอกชื่อผู้กำกับแห่งทศวรรษนี้เชื่อว่าชื่อของ David Fincher ผู้กำกับวัย 52 ปี ชาวอเมริกาผู้นี้ล้วนต้องถูกเสนอชื่อในลำดับต้นๆอย่างไม่ต้องสงสัย พิจารณาจากเครดิตที่เป็นตำนานอย่างหนังอาชญากรเลื่องชื่อที่ว่าด้วยบาปทั้ง 7 ของมนุษย์ใน Se7en คลับลับๆที่พูดถึการต่อสู้ทางจิตใจตนเองใน Fight Club หรือไม่นานมานี้อย่างตามติดชีวิตนายกระดุม The Curious Case of Benjamin Button และที่เปรี้ยงปร้างที่สุดคงหนีไม่พ้นหนังประวัติว่าด้วยการก่อร่างสร้าง Facebook โดยอัจฉริยะผู้เปลี่ยวเหงา Mark Zuckerberg ใน The Social Network รวมทั้งหนังสืบสวนอารมณ์ร้อนแรงที่ส่งให้ Rooney Mara ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงมาแล้วเมื่อปี 2011 กล่าวไปแล้ว Fincher เป็นผู้กำกับที่มีฐานแฟนคลับแน่นไม่ต่างจากลัทธิ Nolanlism แน่ๆ



ปีนี้เขามาพร้อมกับภาพยนตร์เรื่องใหม่อย่าง Gone Girl ซึ่งสร้างจากนิยายขายดีของ Gillian Flynn ในชื่อเดียวกัน และ Flynn ยังรับหน้าที่เขียนบทเองอีกด้วย (ไม่ต้องกลัวว่าหนังจะแร็ปเหมือนใน The Social Network) หากจะถามว่า ควรอ่านตัวนิยายก่อน หรือรับชมก่อน มีนักวิจารณ์หนังชาวไทยเรา ให้คำตอบไว้ในทวิตเตอร์ว่า อ่านก่อนน่าจะดีกว่า เพราะองก์ที่สามของหนังต่างจากหนังสือ ยังไงเสียมันก็ไม่ใช่การสปอยหนัง แต่ด้วยเวลากระชั้นชิด ผมเลือกที่จะไปรับชมตัวหนังก่อน และหยังผิดคาดมากจากตัวอย่างและทิศทางการโปรโมต แต่นับเป็นความเซอร์ไพร์สในแง่บวก

องก์แรก หนังจะพาเราไปรู้จักกับตัวละครคู่สามีภรรยา เป็นการปูเรื่องถึงความสัมพันธ์ของตัวละคร รวมถึงการหายไปของภรรยา Amy Dunne ในช่วงองก์แรกนี้หนังจงใจอย่างมากในการโน้มน้าวใจคนดูอย่างชัดเจน จนเกือบเป็น Propaganda เลยล่ะ โดยหนังโยนความผิดทั้งหมดไปที่ฝ่ายสามี Nick Dunne โดยเล่าคู่ขนานระหว่างเรื่องราวในปัจจุบันและอดีตผ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษไดอารี่ของ Amy Dunne ซึ่ง Nick Dunne และ Amy Dunne เคยรักกัน ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่มีความสำคัญมาก เพราะหากหนังทำให้คนดูเข้าไม่ถึงความรู้สึกของตัวละครแล้ว เท่ากับว่า อีกสององก์ที่ตามมาคือล้มแน่ๆ แต่หนังกลับสามารถทำได้อย่างดี การสังเกตการณ์ความสัมพันธ์ของสองสามีภรรยาคู่นี้ ไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากก็รู้ว่า มันไม่ชอบมาพากล


องก์สอง หนังก็สางปมที่ได้สร้างขึ้น แต่นั่นมันไม่สำคัญเพราะสิ่งที่ตามมากลับทวีความเข้มข้นขึ้น กลายเป็นการขับเคี่ยวกันของ สองสามี ภรรยา แทบจะเป็นสงครามขนาดย่อมๆกันเลยทีเดียว ยิ่งมีกองทัพตำรวจ นักข่าวสื่อมวลชนให้ความสำคัญในคดีหายตัวนี้ด้วยแล้ว หลังจากในองก์แรกที่เรายืนหยัดอยู่ฝั่ง Amy Dunne แต่พอถึงจุดหนึ่งเรากลับ เคว้ง ไม่รู้จะยืนอยู่ฝั่งไหน คงเป็นความสนุกของคนทำหนังที่ได้ใส่มุกตลกแสบๆคันๆมาให้คนดูได้ดิ้นพล่าน กันอย่างครึกครื้น ทั้งแง่เป็นคู่ผัวตัวเมียกัน เรื่องของสื่อที่ในปัจจุบันมีอิทธิพลยิ่งกว่าสิ่งใดๆ

องก์สาม ยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม หนังในองก์สามนี้แทบจะเป็น การปล่อยของ โดยสิ้น แม้หนังจะสื่อออกมาในแง่ ตลกร้าย แต่กลับแฝงความเศร้า การล่มสลายของสิ่งที่เรียกว่า ครอบครัว เอาไว้ และเชื่อว่า ฉากจบคงทำให้ใครหลายคนหลอน หันไปมองคนข้างๆพลางตั้งคำถามในใจว่า "พอได้รู้จักกันจริงๆแล้ว เรายังรักกันเหมือนวันแรกไหม ?"


หนังมีโอกาสจะได้ชิงรางวัลใหญ่ๆ ปลายปีอะไรบ้าง โดยส่วนคิดว่า หลายรายการอยู่ ที่ไม่ต้องสงสัยเลย คือ ออสการ์นำหญิงปีนี้ ต้องมีชื่อเธอคนนี้แน่ๆ Rosamund Pike ไม่เพียงเป็นการประกาศตัวว่า ฉันเป็นดาราหญิงคุณภาพอีกคนของวงการนะ อย่าลืม ! แต่ เธออาจคว้าออสการ์ไปนอนกอดโดยไม่ต้องแย่งชิง ตบตีกับใครเลย Ben Affleck การแสดงพี่แกอาจไม่ได้ทำให้หลายคน