วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

คนรัก "หนัง" #1

คนรัก "หนัง" #1


คนรัก "หนัง" #1

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาผมได้เข้าเรียนในวิชา ภาพยนตร์ปริทัศน์ ซึ่งเป็นรายวิชาหนึ่งของคณะ และมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่ ผมชอบดูหนังครับ ใช้เวลาทั้งวันไปกับการดูหนัง(ดีๆ) ได้โดยไม่ปริปากบ่น ตอนเด็กๆผมก็เติบฌตมาพร้อมๆกับทีวีจอนูนขนาดใหญ่ที่ภาพและเสียงขาดๆหายๆ อยู่บ่อยๆ จนน่ารำคาญ จนทุกวันนี้จอทีวีวิวัฒนาการจนบางเฉียบเรียบเสียยิ่งกว่ากระดาษ พร้อมความชัดในระดับที่กลัวว่า มันจะบาดเข้าไปในลูกนัยน์ตา

วิชาดังกล่าวพูดถึงภาพยนตร์โดยรวม ทั้งเรื่องของ "บทบาท หน้าที่ กระบวนการผลิต ประโยชน์ของภาพยนตร์ วิวัฒนาการของภาพยนตร์ตั้งแต่อดีต เพื่อความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและรูปแบบ ตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสามารถวิเคราะห์ความหมายเชิงศิลปะ วัฒนธรรม จนถึงวิธีการสื่อสารของภาพยนตร์แนวต่างๆได้" นั่นคือสิ่งที่ผมอ่านจาก "ขอบเขตการศึกษา" ที่ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษซึ่งแจกให้ในตอนต้นของการเรียน

รุ่นพี่หลายๆคนบอกว่า วิชานี่เรียนสนุกแต่ตอนสอบนี่หินมากๆ ต้องใช้ความจำล้วนๆ ผมเองก็หวั่นๆนะ แต่ผมก็ไม่สนใจ ด้วยความที่รักหนังเป็นแรงดึงดูดชั้นเยี่ยม

มาถึงคาบแรก อาจารย์ผู้หญิงผมสั้น ท่าทางทะมัดทะแมงสวมเสื้อกันหนาวคลุมเนื่องจากอากาศค่อนข้างเย็นเดินเข้ามาพร้อมโน้ตบุ้คในมือ ได้สอนถึงความหมายและประเภทของภาพยนตร์ ว่าถูกนิยามและแบ่งไว้เป็นหมวดหมู่อย่างไรบ้าง เนื่องจากอาจารย์ยังอยู่ในวัยฮอร์โมน การเรียนจึงเต็มไปด้วยความสนุก แม้จะมีความเป็นวิชาการแต่กลับไม่รู้สึกเบื่อ

ภาพยนตร์นั้น สามารถนิยามได้หลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นๆ อยู่ในสาขาวิชาใด
"อุตสาหกรรมสื่อ" มองในมุมมองของนักธุรกิจ
ภาพยนตร์คืออุตสาหกรรมสื่อ เป็นสื่อมวลชนประเภทหนึ่ง สื่อสารไปยังผู้คนจำนวนมากได้
ที่บอกว่า ภาพยนตร์นั้นเป็นอุตสาหกรรมนั้น เพราะมันเริ่มเป็นธุรกิจมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก มีการลงทุนที่สูง ความเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย(ตัวอย่างที่ชัดและเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศอย่าง ศรีธนญชัย 555+) แต่ก็เช่นเดียวกันกับรายรับ ผลตอบแทนก็สูงตามไปด้วย(กรณีพี่มากพระโขนงของไทย ที่เรียกได้ว่าเป็น Phenomenon) มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจน(จากโรงภาพยนตร์ จากการขายดีวีดี วิซีดี) มีการผลิตแบบอุตสาหกรรม(คือเน้นกำไรมากกว่าคุณภาพ)

มองในมุมมองของ พรบ.ภาพยนตร์และวิดิทัศน์ 2551 "วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือทั้งภาพและเสียง ซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง" นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ ภาพยนตร์ในประเทศไทยสามารถถูกเซ็นเซอร์ โมเสก ตัด ทอน ริบรอนเนื้อหา เนื่องจากกฏหมายมอง ภาพยนตร์ว่า เป็นเพียง "วัสดุ" มากกว่าจะมองเป็น ผลงานทางด้านศิลปะ

"ศิลปะของพื้นที่และเวลา" มองในมุมของผู้กำกับอินดี้หน่อยๆ
"ศิลปะแขนงที่เจ็ด" มองในมุมมองของนักศิลปะ
แล้ว ศิลปะที่เจ็ดคืออะไร มันคือการรวมศิลปะทั้งหกแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ประกอบไปด้วย
-จิตรกรรม ซึ่งก็คือภาพที่เรามองเห็น
-ประติมากรม คือฉากของภาพยนตร์ที่เราเห็นยกตัวอย่างหนังออสการ์เมื่อปีก่อนอย่าง The Great Gatsby หรือที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ Hugo และ Avatar
-สถาปัตยกรรม คือสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือนต่างๆที่ปรากฏ
-คีตกรรม คือ เพลง ดนตรี Score ยกตัวอย่าง เพลง Let it go ที่ร้องกันทั่วบ้านทั่วเมือง หรือ Begin Again ของสุดหล่อ Adam Levine
-นาฏกกรรม คือการแสดง การเต้นรำ
-และสุดท้ายวรรณกรรม มักจะเป็นนส่วนของงาน Pre-Production ในเรื่องของ บทภาพยนตร์ เป็นต้น

รวมกันเป็น ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ว่าด้วยพื้นที่และเวลา คือ จิตรกรรม,ประติมากรม,สถาปัตยกรรม เป็นศิลปะที่เน้นในเรื่องของพื้นที่ในการเสพ ขณะที่ คีตกรรม, นาฏกกรรม และวรรณกรรม จะใชเวลาในการเสพค่อนข้างนาน

แล้วทำไมคนไทยถึงเรียกว่า "หนัง" คำตอบง่ายนิดเดียว ที่มาของคำมาจาก มหรสพชนิดหนึ่งของไทยที่มีชื่อเรียกว่า "หนังใหญ่" และการแสดงชนิดหนึ่งของทางภาคใต้ในไทยอย่าง "หนังตะลุง" คือมีการแสดงภาพด้วยแสงและเงาบนจอผ้าขาวที่เรียกกันว่า การแสดงหนัง จึงกลายมาเป็นคำเรียกติดปากของคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้

คำในภาษาต่างประเทศ อย่าง Film, Movie, Cinema, Motion Picture, Flick, Celluloid ก็มีความแตกต่างกันแม้โดยรวมจะใช้เรียก "หนัง"

Film จะมีความหมาย สามัญ ไว้ใช้พูดทั่วๆไป เรียกภาพยนตร์ประเภทต่างๆ เช่น Short Film, Student Film
Movie มักใช้ในความหมายภาพยนตร์ดัง มีการลงทุนสูง อย่างพวกหนังสตูดิโอ ส่วนใหญ่จะใช้ในสหรัฐอเมริกา พวกหนัง Hollywood, Blockbuster Movies
Cinema(Kinema) ใช้ในเชิงศิลปะและสุนทรียศาสตร์ พวกหนังอาร์ต หนังยุโรป(มักจะดูไม่รู้เรื่อง ใส่สัญลักษณ์ ภาษาหนังมากมาย) หรือเรียกโรงภาพยนตร์
Motion Picture ภาพเคลื่อนไหว เชิงเทคนิค รวมทั้งเรียกในเชิงธุรกิจและองค์กร
Flick เป็นศัพท์Slang มีที่มาจากคำว่า Flicker คือเมื่อก่อนการฉายภาพยนตร์จะใช้ฟิล์มและระหว่างการเปลี่ยนจะมีแสงกระพริบ พรึ่บ พรั่บ อันเกิดจากเครื่องฉายที่เรียกกันว่า Flicker
สุดท้าย Celluloid มีที่มาจากส่วนประกอบของฟิล็มภาพยนตร์ในยุคแรกๆ (แนะนำให้ดู Cinema Paradiso)

การแบ่งประเภทของภาพยนตร์ คนส่วนใหญ่มักแบ่งออกเป็นหนังผี หนังตลก หนังรัก หนังแอ็คชั่น ซึ่งก็ไม่ผิดแต่นั่นเป็นการแบ่งเพียงส่วนเสี้ยวอยู่ในการแบ่งโดยใช้เกณฑ์เนื้อหา แต่ในทางวิชาการเรายังสามารถแบ่งออกได้อีก โดยใช้เกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
-เกณฑ์ระบบการสร้าง
-เกณฑ์รูปแบบการนำเสนอ
-เกณฑ์วัตถุประสงค์การใช้งาน
-และเกณฑ์เนื้อหา

เกณฑ์ระบบการสร้าง ก็จะมีสองรูปแบบ คือ
-Independent Film หรือก็คือหนังอินดี้ หนังอิสระ
สร้างโดยผู้สร้างอิสระทีมงานกลุ่มเล็กๆ ทุนสร้างไม่สูง เนื้อหาไม่อิงความต้องการของตลาด มีความแปลกใหม่และไม่แสวงหาผลกำไรหรือผลทางการค้า มีแนวคิดว่า ภาพยนตร์ คืองานสร้างสรรค์ คือศิลปะ รูปแบบการนำเสนอก็มีความโดดเด่น แหวกแนว มักจัดฉายในโรงภาพยนตร์เฉพาะหรือตามเทศกาล กลุ่มคนดูก็เฉพาะกลุ่ม มีจำนวนไม่มากนัก คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก ยกตัวอย่างผู้กำกับในไทย เช่น คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, คงเดช จาตุรันต์รัศมี และที่มาแรงอย่าง นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

-Studio Film เป็นรูปแบบการผลิตขนาดใหญ่ มีเงินทุนในการจัดการสูงมาก เนื้อหาเป็นไปตามกระแสของตลาดผู้บริโภค ความต้องการของนายทุนรวมทั้งนโยบาย ทิศทางของสตูดิโอ มีแนวคิดว่า การทำภาพยนตร์ คือ การทำธุรกิจ ภาพยนตร์คือสินค้าทำกำไรให้กับบริษัท ดาราที่แสดงก็มักจะมีชื่อเสียง ทีมงานมีการแบ่งงาน หน้าที่กันทำอย่างชัดเจน แบ่งตามความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ จัดฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไป

ความต่างอันเป็นเส้นแบ่งระหว่างระบบอินดี้และสตูดิโอ คือ ที่มาของแหล่งเงินทุนในการสร้าง
ระบบอินดี้ที่มาของทุนมักจะมากจาก ทุนส่วนตัว ทุนจากรัฐบาล(ซึ่งแน่นอนว่าในไทยเคยมี แต่ตอนนี้น่ะหรือ หึหึหึ) ทุนจากเทศกาลภาพยนตร์ เช่น Rotterdam, Busan, Berlin ทุนสาธารณะ เช่น Indiegogo, Kickstarter ทุนจากองก์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น Sundance ที่มีส่วนคาบเกี่ยวกับเทศกาลภาพยนตร์รวมอยู่ด้วย ขณะที่สตูดิโอจะมีเงินทุนจากตัวสตูดิโอเอง หรือสปอนเซอร์เล็กใหญ่ ที่เข้ามาขอมีส่วนร่วม

เกณฑ์รูปแบบการนำเสนอ แบ่งย่อยได้อีกสามประเภทคือ
-Realism(สัจนิยม) นำเสนอ ความจริง ใช้เทคนิคเพียงเล็กน้อย อย่างเช่นการตั้งกล้องคุณป้าข้างบ้านรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
-Formalism (รูปแบบนิยม) มีการใช้เทคนิค ปรุงแต่งอย่างเข้มข้น รายละเอียดยุบยับ เน้นการนำเสนอแนวคิดและการสร้างความหมายพิเศษของผู้สร้าง
-Classical Cinema (ดรามา) เป็นรูปแบบของภาพยนตร์ในเชิงการค้าที่เห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน เป็นแนวที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Realism และ Formalism

เกณฑ์วัตถุประสงค์การใช้งาน แบ่งลงไปได้อีก 6 ประเภทด้วยกัน
-ภาพยนตร์บันเทิง (Entertainment Film) ก็เป็นภาพยนตร์ทั่วๆไป ตั้งแต่เจ้าหญิงดิสนี่ย์จนถึง Titanic
-ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา (Educational Film) เพื่อต้องการให้ความรู้ ให้ทราบบางสิ่งบางอย่าง
-ภาพยนตร์สารคดี (Documentary Film) เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนดูตามที่ผู้สร้างต้องการให้เป็น
-ภาพยนตร์ข่าว (Newsreel) มีความเป็นจริงมากกว่า ภาพยนตร์สารคดี มีคุณค่าของความเป็นข่าว อาจมีความทันต่อเหตุการณ์
-ภาพยนตร์โฆษณา (Advertising Film) จะมีการโน้มน้าวใจ เกินจริง (จนถึงขั้นขี้โม้) สร้างภาพลักษณ์ บางครั้งก่อให้เกิดการครอบงำทางวัฒนธรรม ค่านิยม
-ภาพยนตร์ทดลอง (Experimental Film) จุดประสงค์ก็เพื่อการทดลองบนวัตถุประสงค์บางอย่างเช่น แนวคิดทางศิลปะ ทฤษฎี การสร้าง ศิลปินที่มีชื่อเสียงในภาพยนตร์แขนงนี้เช่น Andy Warhol ศิลปินชาวอเมริกัน

สุดท้ายคือ แบ่งตามเกณฑ์เนื้อหา และ เวลาสามชั่วโมงของการเรียนก็จบลง.. ยอมรับว่าผมค่อนข้างมีความสุขกับการเรียนในวิชานี้ และผมจะพยายามนำเนื้อหาที่ได้เรียนมาสรุปแล้วพิมพ์ไว้ อย่างน้อยก็เอาไว้อ่านทบทวนก่อนสอบ จนถึงบุคคลที่สนใจได้เข้ามาร่วมอ่าน เป็นความรู้เล็กๆน้อยๆ เสริมไปด้วย สำหรับคนที่รักหนัง เหมือนกันกับผม




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น